กกบ.เห็นชอบมาตรการผ่อนปรนแนวทางปฏิบัติทางบัญชีชั่วคราว ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
979 Views
จันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2563
คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) โดยมีนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน มีมติผ่านความเห็นชอบแนวปฏิบัติทางการบัญชี 2 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีนำเสนอ เพื่อเป็นมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มลุกลามทั่วโลก และส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดการเงินของโลก รวมถึงการจัดทำรายงานทางการเงินของกิจการต่างๆ โดยหลังจากผ่านความเห็นชอบของ กกบ.แล้ว สภาวิชาชีพบัญชีจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะทันต่อการจัดทำงบการเงินไตรมาส 1 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เปิดเผยว่า กกบ.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ความเห็นชอบแนวปฏิบัติทางการบัญชี 2 ฉบับ เพื่อเป็นมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแนวปฏิบัติทางการบัญชีทั้ง 2 ฉบับจะช่วยผ่อนปรน และเพิ่มทางเลือกในการจัดทำบัญชีตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for PAEs) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทขนาดใหญ่ ที่การดำเนินการของกิจการเหล่านี้มีผลกระทบเป็นอย่างมากต่อกิจการขนาดเล็ก หรือบุคคลธรรมดาทั่วไปที่เกี่ยวข้อง ทั้งในแง่ของการดำเนินกิจการร่วม การให้สินเชื่อต่างๆ หรือแม้กระทั่งการเป็นพนักงานในกิจการเหล่านี้ โดยสรุปสาระสำคัญของแนวปฏิบัติทางการบัญชี ดังนี้
แนวปฏิบัติทางการบัญชีฉบับที่ 1 เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราว สำหรับกิจการที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เป็นทางเลือกทางการบัญชี เพื่อผ่อนปรนชั่วคราวให้แก่กิจการทุกประเภทที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดเป็นมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นต่ำ เช่น ผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสมของลูกหนี้แต่ละราย เป็นต้น เพื่อให้กิจการสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยแนวปฏิบัติทางการบัญชีฉบับนี้จะใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ถึง 31 ธ.ค. 2564 หรือจนกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลง
แนวปฏิบัติทางการบัญชีฉบับที่ 2 เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราว สำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นทางเลือกทางการบัญชีเพิ่มเติม เพื่อผ่อนปรนชั่วคราวให้แก่ทุกกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และต้องมีการจัดทำงบการเงินในช่วงเวลาที่สถานการณ์โควิดยังคงอยู่ในความไม่แน่นอนสูง ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน อาจเป็นผลให้ฝ่ายบริหารต้องใช้ดุลยพินิจมาก โดยเป็นทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชี สำหรับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน 6 ฉบับ ได้แก่ 1) มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน 2) มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 13 (TFRS 13) เรื่อง การวัดมูลค่ายุติธรรม 3) มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 (TFRS 16) เรื่อง สัญญาเช่า 4) มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 12 (TAS 12) เรื่อง ภาษีเงินได้ 5) มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 36 (TAS 36) เรื่อง การด้อยค่าของสินทรัพย์ และ 6) มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 37 (TAS 37) เรื่อง ประมาณการหนี้สิน หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น และสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น โดยแนวปฏิบัติทางการบัญชีฉบับนี้จะใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ถึง 31 ธ.ค. 2563
ทั้งนี้ สภาวิชาชีพบัญชีจะนำแนวปฏิบัติทางการบัญชีลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป และจะจัดทำตัวอย่างประกอบเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และเกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับผู้ที่เลือกใช้แนวปฏิบัติทางการบัญชีดังกล่าว โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ของสภาวิชาชีพบัญชี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป กกบ.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวปฏิบัติทางการบัญชีดังกล่าวจะมีส่วนช่วยผ่อนคลายความกังวลในการจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองกำกับบัญชีธุรกิจ ส่วนเลขานุการคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) โทร. 0-2547-4407 e-Mail : kkb.dbd2013@gmail.com สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th
ที่มา : www.mgronline.com/smes/detail/9630000040508